วิ่งท่านารูโตะ ทำไปเพื่ออะไร แบรนด์ควรรู้อะไรจากเรื่องนี้ ?

วิ่งท่านารูโตะ หรือ Naruto Run คือการวิ่งโดยโน้มตัวไปข้างหน้า และวาดมือไปด้านหลังตรงๆ

 

 

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก… นารูโตะ คือ การ์ตูนนินจาญี่ปุ่นที่โด่งดังที่สุดในโลก ซึ่งจุดเด่นของการ์ตูนนินจาเรื่องนี้มีหลายอย่างมาก เช่น หมู่บ้านนินจา ที่คาดผม เนตรวงแหวน .. แต่สิ่งที่กำลังเป็นกระแสทั่วโลกตอนนี้ ก็คือ วิ่งท่านารูโตะ หรือ Naruto Run

 

ใครเป็นคนเริ่ม วิ่งท่านารูโตะ?

 

หนังสือการ์ตูนเล่มแรกออกในไทยตอนปี 2542 ซึ่งในทุกโรงเรียน (โดยเฉพาะชายล้วน) จะมีเด็กที่คลั่งไคล้นารูโตะมากๆ วิ่งท่านี้ไปทั่วโรงเรียน ซึ่งถ้าคุณทำคนเดียว อาจถูกมองว่าเป็นคนปัญญาอ่อนได้ เพราะในความเป็นจริง การวิ่งท่านี้ไม่เท่เท่าในการ์ตูน แถมจะดูเหมือนนกเพนกวิ้นด้วยซ้ำ

 

 

ทำคนเดียวมันตลก เลยต้องทำหลายๆ คน

 

การทำอะไรเฉิ่มๆ เป็นเรื่องน่าอาย แต่ถ้าทำหลายคน มันจะไม่น่าอายอีกต่อไป ยกตัวอย่าง เช่น การวิ่งท่านารูโตะบนชายหาดที่บราซิลในเดือนมกราคมปี 2559 ซึ่งเชื่อว่ามีการวิ่งท่านารูโตะเกิดมานานแล้ว เพียงแค่ไม่ได้บันทึกลงสื่ออนไลน์เท่านั้น

 

 

จาก MEME สู่อีเวนต์จริงจัง

 

การวิ่งท่านารูโตะจึงเป็นแค่ Meme ในอินเตอร์เน็ตไว้แซวกันเล่นเท่านั้น แต่เนื่องในโอกาสที่นารูโตะจะจบครบรอบ 18 ปี ในวันที่ 21 กันยายน 2560 จึงเป็นเหตุผลให้แฟนนารูโตะอยากแสดงออก โดยการโพสเป็น Events ใน Facebook เชิญชวนแฟนนารูโตะ และคนที่สนใจ มาร่วมวิ่งด้วยกัน (หนังสือการ์ตูนจบในปี 2557 ส่วนอนิเมะเพิ่งจบในเดือนมีนาคม 2560 นี้เอง )

 

31 สิงหาคม 2560 – Michigan, USA

 

 

1 กันยายน 2560 – Trump Tower, USA

 

 

และล่าสุดไปนับ Events Naruto Run ใน Facebook นับได้คร่าวๆ 80 งาน ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนของไทย ต้องค้นหาว่า วิ่งท่านารูโตะ ซึ่งเจอประมาณ 10 กว่างาน และกำลังจะมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

แล้ว แบรนด์ควรรู้อะไรจากเรื่องนี้ ?

 

1.Character จากการ์ตูนยังทรงพลัง

 

แฟนคลับเป็นฐานผู้บริโภคที่จงรักภักดีต่อแบรนด์มากที่สุด ไม่ว่าแบรนด์จะทำอะไร แฟนคลับก็อยากมีส่วนร่วมเสมอ แฟนคลับตัวการ์ตูนนั้นไม่เหมือนแฟนคลับดารานักร้อง เพราะดารานักร้อง มีคนเกิดใหม่เรื่อยๆ วันนี้ดัง วันหน้าก็อาจไม่ดังเหมือนก่อน แต่สำหรับการ์ตูนนั้น รักแล้ว รักเลย ตามอ่านตั้งแต่เด็ก ตอนโตก็หยุดไม่ได้ เราจึงเห็นคนอายุ 20-40 ปี อ่านการ์ตูนเป็นเรื่องปกติ

 

 

จึงเป็นเหตุผลว่าหลายแบรนด์พยายามสร้างตัวการ์ตูนเป็นของตัวเอง เช่น บาร์บีก้อนของ BBQ Plaza, น้องอุ่นใจ ของ AIS หรือ ก็อตจิ ของ PTT เป็นต้น แต่การสร้าง Mascot แบบนี้ ก็ยังไม่ทรงพลังเท่าตัวการ์ตูนแบบ โดเรม่อน โปเกม่อน วันพีซ คิตตี้ หรือ นารูโตะ ที่มีเรื่องราวเป็นของตัวเอง แต่ราคาต้นทุนการซื้อลิขสิทธิ์ก็แพงมากเช่นกัน

 

2.ใกล้ชิดผู้บริโภคได้มากขึ้น

 

ทุกคนคงจำปรากฏการณ์ Pokemon GO กันได้ ที่ทุกแบรนด์พยายามมีส่วนร่วมกับกระแส ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และสามารถทำได้ แต่หากแบรนด์อยากให้คนจดจำในฐานะผู้ริเริ่มอะไรใหม่ๆ แบรนด์ต้องทำแคมเปญให้ไว สมมุติแบรนด์ของคุณเตรียมจัดอีเวนต์วิ่งในอาทิตย์หน้า แต่พบว่า ท่าวิ่งนารูโตะกำลังมา คุณอาจไปจ้างนักวิ่งแต่งตัวเป็นนารูโตะให้มาวิ่งในงาน หรือ มีการวิ่งท่านารูโตะเล่นๆ ในงานก็ได้ การเล่นกับกระแสเล็กน้อยๆ สามารถสร้างการบอกต่อที่ดีจนน่าตกใจ

 

สำหรับผู้เขียนเอง ไม่ได้เป็นแฟนนารูโตะเป็นพิเศษ แต่ถ้าอยากวิ่งแบบไหนมากที่สุด ขอตอบ Tom Cruise แน่นอน เพราะวิ่งทุกเรื่อง มันทุกเรื่อง

 

 

หรือ ถ้าแนวคลาสสิค ขอแบบ Forest Gump ก็ได้นะ

 

 

ที่มา : marketeer